หลักสูตรการสอนทักษะการเตรียมความพร้อมในการเรียนรู้ระดับปฐมวัยในเด็กออทิสติกสำหรับผู้ปกครอง

ที่มาของหลักสูตร
การให้บริการฟื้นฟูทางการศึกษาของงานการศึกษาพิเศษ ในด้านการพัฒนาความสามารถให้ผู้ป่วยออทิสติกมีทักษะการเรียนรู้ดีขึ้นนั้น มุ่งเน้นการให้บริการในรูปแบบผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการดูแลช่วยเหลือ ซึ่งจากการให้บริการพบว่าผู้ปกครองส่วนใหญ่ขาดความรู้ความสามารถในเรื่องการดูแลและสอนทักษะการเรียนรู้ในผู้ป่วยออทิสติก ทำให้ผู้ป่วยมีการพัฒนาด้านการเรียนรู้เป็นไปอย่างล่าช้าและยากลำบากในการจัดการเมื่อจะต้องเข้าสู่ระบบโรงเรียน ในส่วนของการพัฒนาความสามารถในการเตรียมความพร้อม ผู้ปกครองเป็นผู้มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการที่จะดูแลฟื้นฟูอย่างต่อเนื่องจากที่บ้านได้ โดยถ้าให้การช่วยเหลือในระยะแรกเริ่มตั้งแต่ระดับปฐมวัยจะยิ่งทำให้ผู้ป่วยมีพัฒนาการด้านการเรียนรู้ในทักษะพื้นฐานดีขึ้น และสามารถเข้าไปเรียนร่วมอยู่ในระบบโรงเรียนได้อย่างเป็นปัญหาน้อยที่สุด การสร้างความเข้าใจและให้เทคนิควิธีการในเชิงลึกสำหรับผู้ปกครองที่สนใจ จะมีส่วนช่วยเพิ่มความมั่นใจในการจัดการดูแลผู้ป่วยออทิสติกให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นได้
จุดประสงค์
ผู้ปกครองสามารถดูแลช่วยเหลือเตรียมความพร้อมในด้านการเรียนรู้ระดับปฐมวัยแก่ผู้ป่วยออทิสติกอย่างต่อเนื่องที่บ้าน เพื่อให้เด็ผู้ป่วยมีทักษะด้านการเรียนรู้ระดับปฐมวัยดีขึ้นและสามารถเข้าสู่ระบบการศึกษาได้อย่างเป็นปัญหาน้อยที่สุด
ประโยชน์ที่ผู้เข้าอบรมจะได้รับ
- สามารถอธิบายความรู้และมีทักษะในเรื่องการผู้ป่วยออทิสติกในระดับปฐมวัยได้
- สามารถประเมินความสามารถในทักษะการเรียนรู้ระดับปฐมวัยได้
- สามารถวางแผนและสอนทักษะการเรียนรู้ระดับปฐมวัยตามระดับความสามารถได้
- สามารถจัดการพฤติกรรมการเรียนขณะสอนที่บ้านได้
- มีเจตคติ และมีพลังใจในการดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยออทิสติกได้ดีขึ้น
จำนวนผู้เข้ารับการอบรม
15 ครอบครัว
คุณสมบัติของผู้เข้ารับการฝึกอบรม
- ผู้ปกครองของผู้ป่วยออทิสติกในช่วงอายุ 4-10 ปี ที่มีระดับความสามารถอยู่ในระดับอนุบาล 1 – 3 หรือต่ำกว่า
- ผู้ปกครองมีความสามารถอ่าน เขียน คำนวณในระดับพื้นฐานง่ายๆได้
ระยะเวลาการฝึกอบรม
ระยะที่ 1 เข้ารับการอบรมจำนวน 2 วัน
ระยะที่ 2 เข้ารับการอบรมจำนวน 3 วัน
ระยะที่ 3 เข้ารับการอบรมจำนวน 1 วัน
รวมระยะเวลาการอบรม 6 วัน
สถานที่ฝึกอบรม
โรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์
วิทยากร
นักวิชาการศึกษาพิเศษ
วิธีการฝึกอบรม
- การบรรยาย (Lecture)
- การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น (Discussion)
- กรณีศึกษา (Case consultation)
- การสอนแบบสาธิต (Demonstration)
- ฝึกทักษะด้วยการลงมือปฏิบัติ (Practicum)