หลักสูตรการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านเพื่อวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการ ประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ( Residency Training in Child and Adolescent Psychiatry )

ที่มาของหลักสูตร
สถานการณ์สุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นมีปัญหาเพิ่มขึ้น ขณะที่ปริมาณจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นทั่วประเทศในปี 2561 มีจำนวนเพียง ๒๐๐ คน ทำให้สัดส่วนกับจำนวนจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นต่อประชากรไม่เป็นไปตามเกณฑ์ของ WHO สถิติของจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นยังขาดแคลนในหลายจังหวัดของประเทศไทย โดยจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นส่วนใหญ่ปฏิบัติงานในเขตกรุงเทพมหานคร ในต่างจังหวัด มีจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นปฏิบัติงานประจำอยู่เพียงร้อยละ ๕๐ เท่านั้น ซึ่งไม่ได้สัดส่วนต่อปริมาณเด็กในจังหวัดนั้นๆ จึงมีความจำเป็นเร่งด่วน และสำคัญอย่างยิ่ง ในการเพิ่มปริมาณจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น เพื่อตอบสนองความต้องการของระบบบริการสุขภาพ และให้ประชาชนทุกพื้นที่เข้าถึงระบบบริการสุขภาพจิตได้อย่างต่อเนื่อง และมีมาตรฐานต่อไป
จุดประสงค์
ผลิตจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นที่มีคุณภาพ มีความรู้ความชำนาญทั้งด้านการดูแล รักษา ป้องกัน ส่งเสริม ฟื้นฟูสุขภาพจิตแก่เด็กและวัยรุ่นเป็นสำคัญ สามารถสร้างผลงานทางวิชาการ งานวิจัยองค์ความรู้ใหม่ที่ได้มาตรฐานสากล และมีความสามารถในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีเจตคติ คุณธรรม จริยธรรม ตามจรรยาบรรณจิตแพทย์ มีความรับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมาย โดยยึดประโยชน์ของผู้ป่วยเป็นสำคัญ บนพื้นฐานการดูแลแบบองค์รวม มีทักษะการสื่อสารที่ดี มีปฏิสัมพันธ์ในการทำงานร่วมกับสหสาขาวิชาชีพ
ประโยชน์ที่ผู้เข้าอบรมจะได้รับ
มีความรู้ความสามารถตามสมรรถนะหลักทั้ง 6 ด้าน
- การดูแลรักษาผู้ป่วย (Patient Care)
- มีทักษะการสัมภาษณ์ทางจิตเวชเด็กและวัยรุ่น การตรวจร่างกาย การตรวจสุภาพจิต การใช้แบบประเมินที่สำคัญ เพื่อให้การวินิจฉัยผู้ป่วยจิตเวชเด็กและวัยรุ่นแบบองค์รวม
- มีความสามารถในการเข้าใจจิตพยาธิสภาพ และสามารถให้การรักษาที่เหมาะสม แก่ผู้ป่วยจิตเวชเด็กและวัยรุ่น และครอบครัวแบบองค์รวม
- ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และความสามารถในการนำไปใช้แก้ปัญหาของผู้ป่วยและสังคมรอบด้าน (Medical Knowledge and Skills)
- มีความรู้พื้นฐานด้านสุขภาพจิต สุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น จิตวิทยา วิทยาศาสตร์การแพทย์และสังคมที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานด้านจิตเวชเด็กและวัยรุ่น
- มีความรู้และสามารถวิเคราะห์ วินิจฉัย บำบัดรักษารวมทั้งป้องกันโรคและภาวะผิดปกติ ทางจิตเวชเด็กและวัยรุ่นต่างๆได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
- การเรียนรู้จากการปฏิบัติและการพัฒนาตนเอง (Practice –based learning & improvement)
- วิพากษ์บทความ และดำเนินการวิจัยทางการแพทย์และสาธารณสุขได้
- มีความรู้ในการคิดวิเคราะห์อย่างมีวิจารณญาณทางการแพทย์ และการแพทย์เชิงประจักษ์
- เรียนรู้ พัฒนาทักษะด้านจิตเวชเด็กและวัยรุ่นและเสริมสร้างประสบการณ์ทางวิชาชีพได้ด้วยตนเองจากการฝึกปฏิบัติ
- ทักษะปฏิสัมพันธ์ และการสื่อสาร (Interpersonal and Communication Skills)
- นำเสนอข้อมูลผู้ป่วย และอภิปรายปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ
- ถ่ายทอดความรู้และทักษะ เป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำแก่แพทย์และ/หรือนักศึกษาแพทย์ และ/หรือบุคลากรทางการแพทย์
- สื่อสารให้ข้อมูลแก่ผู้ป่วยและญาติ ได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ โดยมีเมตตาเคารพการตัดสินใจและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
- สื่อสารให้ข้อมูลแก่คนในสังคม ได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ
- มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ทำงานกับผู้ร่วมงานทุกระดับอย่างมีประสิทธิภาพ
- ความเป็นมืออาชีพ (Professionalism)
- มีคุณธรรม จริยธรรม และเจตคติอันดีต่อผู้ป่วย ญาติ ผู้ร่วมงาน เพื่อนร่วมวิชาชีพและชุมชน
- มีความสามารถในการสำรวจจิตใจ พัฒนาตัวเอง และสามารถบริหารจัดการสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องได้เหมาะสม
- มีความสนใจใฝ่รู้ และสามารถพัฒนาไปสู่ความเป็นผู้เรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิต(continuous professional development) เพื่อธำรงและพัฒนาความสามารถด้านความรู้ ทักษะ เจตคติ และพฤติกรรมในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมสาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่นให้มีมาตรฐาน ทันสมัย และตอบสนองต่อความต้องการของผู้ป่วย สังคม และการเปลี่ยนแปลง
- การปฏิบัติงานให้เข้ากับระบบ (System-based practice)
- มีความรู้และเข้าใจเกี่ยวกับระบบสุขภาพ บริบททางสังคม และวัฒนธรรมของประเทศ
- มีความรู้และมีส่วนร่วมในระบบพัฒนาคุณภาพการดูแลรักษาผู้ป่วย
- มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วย
- มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องสิทธิผู้ป่วย
- ใช้ทรัพยากรสุขภาพอย่างเหมาะสม (cost consciousness medicine) และสามารถปรับเปลี่ยนการดูแลรักษาผู้ป่วยให้เข้ากับบริบทของการบริการสาธารณสุขได้ตามมาตรฐานวิชาชีพ
จำนวนผู้เข้ารับการอบรม
รับสมัครปีละ 2 คน (หลักสูตร 4 ปี)
คุณสมบัติของผู้เข้ารับการฝึกอบรม
- ได้รับปริญญาแพทย์ศาสตร์บัณฑิต หรือเทียบเท่าที่แพทย์สภารับรอง
- ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมตาม พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 แพทย์สภา
- ผ่านการปฏิบัติงานตามโครงการเพิ่มพูนทักษะ
- มีคุณสมบัติครบถ้วนตามเกณฑ์ผู้เข้ารับการฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางของแพทย์สภา หรือผู้ที่ได้รับวุฒิบัตรสาขาจิตเวชศาสตร์ หรือเป็นแพทย์ประจำบ้านสาขาจิตเวชศาสตร์ชั้นปีที่ 3 ที่กำลังจะสำเร็จการฝึกอบรม 3 ปี (สามารถเข้ารับการฝึกอบรมต่อในชั้นปีที่ 3 ของหลักสูตรจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น)
ระยะเวลาการฝึกอบรม
4 ปี
สถานที่ฝึกอบรม
แพทย์ประจำบ้านชั้นปีที่ 1 – 2 ฝึกอบรมจิตเวชศาสตร์ ณ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ระยะเวลา 2 ปี
แพทย์ประจำบ้านชั้นปีที่ 3 – 4 ฝึกอบรมจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น ณ โรงพยาบาลยุวประสารทไวทโยปถัมภ์ ระยะเวลา 2 ปี
วิทยากร
- จิตแพทย์ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา
- อาจารย์พิเศษด้านจิตเวชเด็กและวัยรุ่น และประสาทวิทยา จากสถาบันอื่นๆ
- จิตแพทย์เด็กและวันรุ่น โรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์
- ทีมสหวิชาชีพทุกสาขา
วิธีการฝึกอบรม
แบ่งการฝึกอบรมเป็น 2 ส่วน คือ
ส่วนที่ 1 ชั้นปีที่ 1 และ 2 การฝึกอบรมให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานการฝึกอบรมจิตเวชศาสตร์
ส่วนที่ 2 ชั้นปีที่ 3 และ 4 การฝึกอบรมให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานการฝึกอบรมจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น
โดยทั้ง 2 ส่วนมีวิธีการฝึกอบรมประกอบด้วย การฝึกภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ กรณีศึกษา การสอนแสดง การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และการเรียนรู้ด้วยตนเอง เป็นต้น